Pages

Thursday, May 17, 2012

วิธีต่อรองราคาอย่างนักช้อปมืออาชีพ

 
         ไม่ว่าจะช็อปเมืองไทย หรือไปเมืองนอก หญิงไทยได้ชื่อว่าต่อราคาเก่งเสมอ
“เท่าไหร่คะพี่…ลดหน่อยได้มั้ยคะ” ประโยคนี้ใครเป็นขาช็อป ย่อมคุ้นเคย
เป็นอย่างดีจะลดมากหรือลดน้อยไม่ว่าขอให้ฉันได้ชื่อว่า ซื้อของถูกสักหน่อย
เถอะนี่คือปรัชญาและความสุขอย่างหนึ่งของคนซื้อ แต่ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ
เพราะฉะนั้นอยากได้ของถูก ก็ต้องใช้เทคนิคกันหน่อย ว่ามั้ย!!
เช็คราคาหลายๆ ร้านเพื่อความชัวร์
เมื่อเกิดอาการถูกใจของเข้าชิ้นหนึ่ง อย่าเพิ่งใจร้อนเอ่ยปากต่อราคาทันที
เราต้องไปสำรวจร้านอื่นๆในละแวกเดียวกันก่อน เพื่อเปรียบเทียบราคา
ให้แน่ใจว่าของชิ้นนี้ราคาประมาณนี้จริงหรือเปล่า และอีกกรณีหนึ่งคือ
ถ้าร้านไหนติดป้ายราคา ไว้ชัดเจน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เขาอาจตั้งโอเวอร์ไว้เผื่อต่อแน่นอน
ตั้งราคาที่พอซื้อได้ไว้ในใจ แล้วค่อยลงมือต่อราคา
เมื่อเจอร้านที่คิดว่าราคาเข้าท่าที่สุดแล้ว ต้องดูด้วยว่า คนขายท่าทางใจดี
และเป็นมิตร หรือเปล่า ถ้า โอเคก็เข้าไปดูอีกรอบ งัดประโยคคลาสสิค
ออกมาถามนำคนขาย ก่อนเลยว่า “ลดได้เท่าไหร่คะ” แน่นอนตามสูตร
คนขายมักลดให้ไม่เกิน 10 % ระหว่าง นั้นอย่าแสดงอาการว่าอยากได้จน ออกนอกหน้า
เดี๋ยวคนขายรู้ไต๋ พยายามผูกมิตร ทำทีเป็นยิ้มแย้ม แล้วลองหยั่งเชิง
ขอลดประมาณ 40 % ไปเลย ถ้ายังไม่ได้ก็ ต้องลองต่ออีกสักยก (ยกเว้นที่บาหลี
ควรต่อเกินครึ่งเข้าไว้ แล้วสุดท้าย คุณจะได้ ของในราคาลด 40-50%)
ครั้งแรกยังไม่ได้ ก็ทนใช้ลูกตื้ออีกหน่อย
ลองต่อลงมาอีกสัก 10 % อย่าพยายามต่อราคาแบบถ้วนๆ ต้องมีเศษบ้าง เช่น 20-60
บาท จะได้ดูเหมือนว่าไม่เยอะเกินไป เท่านั้นยังไม่พอ ควรพูดจาออดอ้อน หวานๆ
กับคนขาย เข้าไว้ (โดยเฉพาะ ถ้าคนขายเป็นผู้ชาย)
ถ้าเขาหรือเธอยังมีท่าทางใจแข็ง อาจจะบอกว่ามีเงินอยู่แค่นี้
เผื่อคนขายจะเกิดอาการสงสาร หรือไม่ก็พบกันครึ่งทาง
ในราคาที่เราพอใจจะซื้อเป็นครั้งสุดท้าย
ถ้ายังไม่สำเร็จอีก คงต้องงัดไม้ตายสุดท้ายออกมา
ไม้ตายสุดท้ายที่ว่า อันนี้หลายคนใช้บ่อย คือ
ไม่ซื้อก็ได้แล้วเดินออกจากร้านไป ซึ่งจากประสบการณ์ 80 % มักได้ผล
(เพราะล่าสุดเพิ่งใช้วิธีนี้เหมือนกันค่ะ) แต่ถ้ายังไงๆ
คนขายก็ไม่มีทีท่าว่าจะยอม ลองไตร่ตรองดูว่าจำเป็นหรืออยาก ได้มากแค่ไหน
ถ้ามากเราคงต้องเป็นฝ่ายใจอ่อนเสียเอง แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ก็เก็บเงินไว้
ยังมีอีกตั้งหลายร้าน ที่อาจมีสินค้าคุณภาพที่ดีกว่าและถูกกว่าก็ได้
หรืออดใจรออีกสักพัก สุดท้ายถ้าไม่มีใครซื้อเขาก็ต้องเอาออกมาเซลล์วันยังค่ำ
การซื้อของบางครั้งต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราบ้าง อยากให้เขาลดราคาก็ต้อง
รู้จักกติกาและมารยาท มาดูว่าพฤติกรรมแบบไหนที่ไม่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง

หมายเหตุ
อาจจะมีคนขายบางประเภทที่เป็นแค่ลูกจ้าง ไม่สามารถลด ให้เราได้จริงๆ
เราก็อย่าไปโกรธ ต่อว่าต่อขาน หรือทำท่าเชิดใส่เขา กิริยาแบบนี้จะยิ่ง
ทำให้เขา ลำบากใจ สู้เดินออกมาเฉยๆ แล้วไปหาร้านอื่น จะดูดีกว่าเยอะเลย
เวลาเดินเลือกของ ไม่ซื้อไม่ว่าแต่อย่าแสดงกิริยาเหมือนกับว่า ของก็งั้นๆ
ไม่เห็นจะอยากได้เลย แทนที่คนขายจะเข้ามา โอภาปราศัยหรือ ลดราคาให้
กลับกลายเป็นอยากจะไล่ออกจากร้านเสียมากว่า
อย่าทำทีอวดรู้และเถียงกับคนขายว่า คุณรู้นะว่าของชิ้นนี้ราคาต้นทุน
มาเท่าไหร่ ถ้าลดให้คุณในราคาที่คุณเสนอไป คนขายก็ยังได้กำไรอยู่ดี
แบบนี้คงไม่ไหวเพราะวันๆ หนึ่งเขาคงต้องเจอกับลูกค้าที่ต่อแล้ว
ต่ออีกแบบคุณนับไม่ถ้วน แล้วจะเอากำไรที่ไหนมาเหลือ
เมื่อเริ่มเอ่ยปากต่อราคา อย่าให้ต่ำมาจนน่าเกลียด เช่น ต่อเกินครึ่ง
แบบนี้ก็โหดไปหน่อย ควรหยั่งเชิงต่อให้ใกล้กับราคาที่เรา พอใจ จะซื้อได้ก่อน
แล้วค่อยๆ ตะล่อมคนขาย ให้ใจอ่อน ยอมลดให้ ถึงที่สุดดีกว่า และถ้าไม่ได้จริงๆ
ก็อย่าพยายามตื้อมาก ให้พบกัน ครึ่งทางจะได้สบายใจ ทั้งคนซื้อและคนขาย
อย่าทำเหมือนกับว่าการต่อราคาเป็นเรื่องสนุก ต้องเอาชนะคนขายให้ได้
ยิ่งได้ของถูกเท่าไหร่ ยิ่งภูมิใจ ในขณะเดียวกันคนขายคงไม่สนุกด้วย
อย่าขี้เหนียวเกินเหตุ เพราะบางคนอาจจะมีฐานะทางเศรษฐกิจ ที่ค่อนข้างดี
ใช้จ่ายไม่ขัดสน ถ้าไปเจอของซึ่งราคาจริงก็ถูกมากอยู่แล้ว เช่นว่าอาจจะ ไม่ถึง
50 หรือ 100 บาท ถ้าของชิ้นนั้นคุณภาพสมราคา ซื้อได้ก็ซื้อไปเถอะ อย่าไปต่อให้เหนื่อยเลย

วิธีต่อรองราคา...แบบมืออาชีพ







           จะต่อรองราคา ต่อให้เป็นตลาดนัดข้างออฟฟิศ หรือปิดท้ายขายของก็ขอสู้ไม่ถอย ลองหัดเพิ่มชั้นเชิงในการต่อรองกันสักหน่อยนะ ราคาดีดีจะหนีไปไหนล่ะ
1. เปิดราคาแรกด้วยราคาต่ำ ๆ ด้วยเสียงชัด ๆ เข้ม ๆ
ถึง ใจจริงแล้วคุณจะยอมจ่ายมากกว่าราคาแรกที่บอกไป แต่ก็ต้องเริ่มที่ราคาต่ำไว้ก่อน ประมาณ 70% ของราคาที่บอกมา หรือให้ต่ำกว่าราคาที่เราจะยอมรับได้ คุณจะได้มีช่วงราคากว้างพอที่จะตั้งราคาใหม่อีกครั้ง เช่น ราคาขาย 650 คุณซื้อได้ที่ 500 บาท ก็บอกไปก่อนที่ 450 บาท
2. ยืนยันราคาแรก...นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
ราคา แรกที่คุณต่อจะเป็นราคาสูงที่สุดตลอดการต่อครั้งนั้น แต่คุยกันแล้วท่าจะไม่ได้แน่ ก็เขยิบขึ้นมาอีกเล็กน้อย พอถึงตอนนี้แม่ค้าอาจจะยืนที่ราคาสูงกว่า เพราะได้ใจที่เห็นเพิ่มราคาให้ เพราะฉะนั้นยืนราคาล่าสุดที่คุณตั้งไว้ให้เห็นว่าเราได้แค่นี้แล้วล่ะ
3. (ทำท่า) ไม่เอา...คือมุขสุดท้าย
ถ้าราคาสุดท้าย จะสูงกว่าราคาที่คุณรับได้เล็กน้อย แต่ยอมพอรับได้ก็โอเคเถอะ แต่ให้ทิ้งทวนอีกครั้ง ด้วยอาการบ่น ๆ หรือทำท่าว่าจะไม่เอาเพราะแพงเกินไป อาจจะได้อะไรให้พอชื่นใจได้บ้าง
4. อย่าลืมของแถม
เมื่อได้ราคาที่ยอมรับได้ของทั้ง สองฝ่ายแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นราคาที่เรายังไม่พอใจนัก ก็ให้ลองคุยดูว่า ไม่ลดกว่านี้ก็ได้ แต่แถมอันนี้หน่อยได้มั้ยล่ะ มีแววว่าจะได้ค่ะ เพราะตอนนั้นแม่ค้าคงอยากปิดการขาย เขาจะได้ไปขายคนอื่นบ้าง
5. จำไว้ว่า...พูดเพราะ ๆ คุยกับแม่ค้าดี ๆ
ใครก็อยากได้ยินคำที่ฟังแล้วรื่นหู ลองคิดว่าเราเป็นแม่ค้าดูสิ เวลาได้ยินคนพูดเพราะ ๆ มีอะไรอยู่ในมือก็อยากให้ไปก่อนแล้ว




เทคนิคการต่อรองราคาบ้านมือสอง

 
 
                ในปัจจุบันผู้ซื้อนิยม และให้ความสนใจซื้อบ้านมือสอง กัน มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุผลในหลายประการ เช่น บ้านในทำเลที่ต้องการไม่มีโครงการบ้านใหม่เสนอขาย โดยเฉพาะบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ในเขตเมืองที่หายากและมีราคาแพงเกินไป นอกจากนั้นบ้านมือสอง ยังมีราคาถูกกว่าบ้านใหม่ขึ้นอยู่กับสภาพและอายุของบ้าน เป็นต้น จากความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ปัจจุบันตลาดบ้านมือสอง เริ่มขยายตัวและกินส่วนแบ่งตลาดประมาณ 30% ของตลาดบ้านโดยรวม
             ลักษณะเด่นอีกประการหรึ่งของบ้านมือสอง คือ สามารถต่อรองราคากันมากกว่าตลาดบ้านมือใหม่ เนื่องจากเป็นบ้านที่มีการใช้งานมาแล้วสภาพบ้านจึงไม่สมบูรณ์เหมือนบ้านใหม่ แต่การจะต่อรองให้ได้ราคาเป็นที่พอใจของผู้ซื้อหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ผู้สนใจซื้อบ้านมือสอง ควรที่จะรู้เทคนิคและวิธีการเจรจาต่อรองกับเจ้าของบ้าน หรือตัวแทนนายหน้าที่ทำหน้าที่ขายบ้านหลังนั้น เพื่อให้ได้บ้านในราคาที่สมใจ
            เทคนิค ในขั้นพื้นฐานหลังจากที่ผู้ซื้อตัดสินใจจะซื้อบ้านที่เจ้าของ หรือตัวแทนนายหน้าเสนอขาย ผู้ซื้อจะต้องเตรียมตัวในสิ่งเหล่านี้ก่อนเป็นอันดับแรก  คือ 1.ผู้ซื้อจะต้องหาข้อมูลเปรียบเทียบของราคาบ้านในทำเลเดียวกันหรือใกล้เคียง กัน เพื่อให้ได้ราคาอ้างอิง ที่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ว่า ราคาบ้านที่ผู้ซื้อต้องการซื้อในทำเลนั้นควรเป็นเท่าไหร่ และควรจะมีข้อมูลอ้างอิงมากกว่า 1 แหล่ง 2.พิจารณาเงื่อนไขทางด้านภาษี ค่าธรรมเนียมต่างๆ ตามกฎหมาย ว่าใครเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในส่วนนั้นบ้าง            3. พิจารณาว่า เมื้อซื้อบ้านหลังนั้นมาแล้ว ผู้ซื้อจะต้องปรับปรุงซ่อมแซมบ้านหลังนั้นมากน้อยเพียงใด และต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ซึ่งค่าใช้จ่ายฝยการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านผู้ซื้อสามารถนำมาใช้เป็นเงื่อนไขใน การเจรจาต่อรองได้เช่นกัน 4.ผู้ซื้อจะต้องพิจารณาเงื่อนไขทางการเงื่อนในกรณีที่ผู้ซื้อจะต้องขอสิน เชื่อกับธนาคาร ว่า ธนาคารจะอนุมัติให้สินเชื่อสำหรับการปรับปรุง ซ่อมแซมหรือไม่ เป็นจำนวนเงินเท่าใด เพียงพอต่อการปรับปรุงซ่อมแซมหรือไม่ และผู้ซื้อมีกำลังเพียงพอที่จะผ่อนไหวหรือไม่ ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ผู้ซื้อต้องเตรียมให้พร้อมสำหรับการเจรจา
            เมื่อ เริ่มเจรจาผู้ซื้อควรจะคำนึง ไว้เสมอว่าผู้ซื้อมีความต้องการซื้อจึงขอต่อรองราคา แม้ว่าราคาจะเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าบ้านเท่านั้น แต่เป็นส่วนสำคัญของการตัดสินใจซื้อโดยปกติคนไทยมักชอบการต่อรองอยู่แล้ว ผู้ขายส่วนใหญ่จึงตั้งราคาเผื่อไว้สำหรับการต่อรองในขณะที่ผู้ซื้อต้องการ ได้บ้านในราคาที่ต่ำ ราคาซื้อขายจึงเป็นราคาที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายยอมรับได้ ในการซื้อ-ขายแต่ละครั้งย่อมมีความแตกต่างกันออกไปในเงื่อนไขเฉพาะของตัว บุคคลจึงไม่มีสูตรแน่นอนตายตัวในการต่อรองทุกครั้งไป แต่ก็พอมีเทคนิคที่จะแนะนำได้ดังนี้
            เวลาเจรจาต่อรองบ้านมือสอง ผู้ ซื้อจะต้องหาสิ่งที่เป็นรูปธรรม มาเป็นเงื่อนไขสำหรับการต่อรอง เช่น หาจุดบกพร่อง หรือตำหนิของบ้าน เพื่อของส่วนลด โดยให้เหตุผลว่า ตำหนิและจุดบอกพร่องของบ้านจะนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการปรับปรุง ซ่อมแซม เป็นต้น ผู้ซื้อไม่ควรนำเรื่องทำเลที่ตั้งมาเป็นจุดในการเจรจาต่อรอง เพราะราคาบ้านมักจะถูกกำหนดโดยทำเลที่ตั้งอยู่แล้ว แต่สามารถนำเรื่องสภาพแวดล้อมในทำเลที่ตั้งมาเป็นจุดเจรจาต่อรองได้ ถ้าในกรณีที่สภาพแวดล้อมอาจจะไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย แต่ผู้ซื้อยังพอรับได้ เช่น อยู่ใกล้ชุมชนแออัด มีเสียงดังรบกวน หรือเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม เป็นต้น ผู้ซื้อก็อาจจะยกเป็นเงื่อนไขในการขอให้ผู้ซื้อลดราคาลงมาให้ได้บ้าง
            จุด ต่อรองที่สามารถนำมาใช้ได้อีกวิธีหนึ่ง คือ สภาพของบ้านการใช้สอยภายในตรงกับความต้องการของผู้ซื้อแล้วหรือยัง ในกรณีที่ไม่ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อและอาจจะต้องทำการรื้อออกเพื่อปรับ ปรุง ต่อเติมใหม่ ให้พิจารณาดูก่อนว่าพอรับไหวหรือไม่ ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะซื้อได้ก็อาศัยจุดนี้เป็นจุดต่อรองราคาลงมา การเจรจาจะต้องตรงไปตรงมา ทางที่ดี ควรที่จะให้ช่างมาตีราคาว่า ถ้าจะรื้อส่วนนั้นออกและปรับปรุงใหม่จะต้องใช้เงินเท่าไหร่ โดยอาจจะเสนอผู้ขายให้ช่วยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เป็นส่วนลดราคาบ้าง
            ใน กรณีที่ซื้อบ้านที่มีการตกแต่งเรียบร้อย ค่อนข้างตรงกับความต้องการของผู้ซื้ออยู่แล้ว เพียงแต่ตกแต่ง ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงภายในเล็กน้อยก็อาจจะให้ผู้ซื้อช่วยเหลือเป็นส่วนลดใน เรื่องค่าตกแต่งได้บ้างเล็กน้อย นอกจากนั้นผู้ซื้อยังใช้เหตุผลเรื่องของระยะเวลามาช่วยในการต่อรองราคาได้ เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ผู้ซื้ออาจจะใช้ระยะเวลาในการปรับปรุง ซ่อมแซมบ้านก่อนเข้าอยู่ ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายจากการเช่าบ้าน เพราะยังไม่สามารถอยู่บ้านที่จะซื้อได้ในทันที ค่าใช้จ่ายจากการต้องเช่าบ้านในระหว่างปรับปรุงบ้านที่จะซื้ออาจจะนำมาเป็น ข้อเสนอในการขอส่วนลดจากผู้ขายได้
            สภาพเสื่อมโทรมของตัวอาคารเป็นอีกจุดหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ในการต่อรองกับผู้ขายได้เป็นอย่างดี บ้านมือสอง ที่ ไม่มีผู้อยู่อาศัยมานานย่อมจะเสื่อมโทรมไปตามสภาพ การนำจุดนี้มาเจรจาต่อรองจึงถือว่าเป็นการต่อรองที่สมเหตุสมผล โดยอาจจะให้ผู้ขายช่วยลดราคาให้  สำหรับค่าใช้จ่ายที่ต้อง ฟื้นฟูสภาพอาคารให้ดูดีขึ้น เช่นอาจจะต้องทาสีใหม่ ซ่อมหลังคา หรือตรวจสอบการชำรุดทรุดโทรมของตัวบ้าน ซึ่งอาจจะใช้หลักการเดี่ยวกันกับการรื้อย้าย คือ ให้ช่างมาประเมินราคาค่าใช้จ่าย โดยเสนอให้ผู้ขายช่วยค่าใช้จ่ายสักครึ่งหนึ่งโดยการลดราคาบ้านลงมา
            การ เจรจาต่อรองที่จูงใจให้ผู้ขายมีความรู้สึกว่าถ้าช่วยเหลือค่าใช้จ่ายให้ผู้ ซื้อสักเล็กน้อย จะทำให้ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อทันทีบ้านก็จะขายได้เร็ว จะช่วยให้การเจรจาต่อรองประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น สิ่งสำคัญที่ไม่ควนมองข้ามคือ การพูดกับผู้ขายให้ผู้ขายมีความรู้สึกว่า หากผู้ขายลดราคาลงมาให้บ้างจะเป็นการช่วยเหลือผู้ซื้อ การต่อรองที่ดีจึงอยู่ที่การพูดคุยในลักษณะโน้มแนวให้ผู้ขายเห็นใจผู้ซื้อ ด้วย ถ้าผู้ซื้อสามารถพูดคุยจูงใจให้ผู้ขายมีความรู้สึกว่าได้ช่วยเหลือผู้ซื้อจะ ยิ่งทำให้การต่อรองราคาสัมฤทธิ์ผลได้ง่ายขึ้น

Tuesday, May 8, 2012

ซื้อบ้านมือสองดีกว่าบ้านมือหนึ่งอย่างไร?


        ปัจจุบัน ในตลาดมีบ้านที่เสนอขายอยู่มากมาย ทั้งบ้านที่เปิดตัวใหม่และบ้านมือสอง ผู้ซื้อจึงสามารถเลือกซื้อได้อย่างจุใจ จนบางครั้งก็ทำให้ตัดสินใจยากว่าจะซื้อบ้านแบบไหนดีจึงจะได้ประโยชน์คุ้มค่า ที่สุด สำหรับตลาดบ้านมือสองนับว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มาก เพราะมีทั้ง "บ้านเก่ามือสอง" คือบ้านเก่าที่มีการอยู่อาศัยมาก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของอยู่เอง ให้ญาติพี่น้องอยู่ หรือให้ผู้อื่นเช่า และเจ้าของต้องการขายต่อ เนื่องจากเหตุผลต่างๆ เช่น ต้องการขายเพื่อไปซื้อบ้านใหม่ที่ดีกว่า หรือร้อนเงินเนื่องจากต้องรีบชำระหนี้ หรือถูกฟ้องบังคับจำนอง เป็นต้น และยังมี "บ้านใหม่มือสอง" ที่เจ้าของซื้อเป็นของตนเองแล้ว "สร้างเสร็จแล้ว" และรับโอนกรรมสิทธิ์จากเจ้าของโครงการแล้ว (แต่อาจกำลังผ่อนกับธนาคาร) แต่ไม่เข้าอยู่อาศัยเอง ปล่อยว่างไว้ ซึ่งบ้านเหล่านี้ยังมีจำนวนมากที่เจ้าของต้องการขายต่อ เฉพาะใน กทม. และปริมณฑล มีนับเป็นแสนหน่วย
     นอกจากนี้ ภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน มีผู้ซื้อบ้านจำนวนมาก ต้องประสบปัญหาทางการเงิน ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงถูกธนาคารฟ้องร้องบังคับจำนอง และมีการขายทอดตลาดแก่ประชาชนทั่วไปโดยกรมบังคับคดีจำนวนมาก ในบางกรณี เจ้าของบ้าน จะทำการโอนบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ให้กับธนาคารเพื่อเป็นการ “ตีชำระหนี้” และมีบางกรณีที่ธนาคารเป็นผู้ประมูลซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ขายทอดตลาดมาเป็น ของตนเอง ดังนั้น จึงเป็นเหตุให้ “ธนาคารมีบ้านและที่ดินในครอบครอง” (Real estate owned – REO) จำนวนมาก รวมกันทุกธนาคาร มีหลายหมื่นหน่วย ซึ่งบ้านเหล่านี้ ถือว่าเป็นบ้านมือสองที่ธนาคารจะประกาศให้เช่าหรือขายต่อไป จึงเห็นได้ว่า ในปัจจุบัน ตลาดที่อยู่อาศัย เป็นตลาดของผู้ซื้อ เพราะผู้ซื้อมีโอกาสและทางเลือกในการซื้อบ้านกว้างขวางมากขึ้นทั้ง "บ้านมือหนึ่ง” ในโครงการที่เปิดตัวใหม่ และ "บ้านมือสอง" ทั้งที่เป็นบ้านเก่าและบ้านใหม่

     ประเด็นคำถามของผู้ซื้อคือว่า เมื่อบ้านมีขายมากมายอย่างนี้ “จะเลือกซื้อบ้านในโครงการเปิดตัวใหม่ หรือซื้อบ้านมือสองดีกว่า” การที่จะตอบว่าซื้อบ้านใหม่หรือบ้านมือสองดีกว่ากัน ย่อมไม่อาจตอบได้อย่างชัดเจน เพราะขึ้นอยู่กับตัวบ้าน คุณภาพอาคาร การตกแต่ง ทำเล ราคา และความต้องการซื้อของผู้ซื้อเฉพาะราย ในอดีต คนไทย มักจะนิยมซื้อบ้านมือหนึ่ง อย่างไรก็ตาม บ้านมือสอง ก็มิใช่จะด้อยกว่าบ้านมือหนึ่งเสมอไป ยิ่งในสถานการณ์ที่ตลาดมีบ้านมือสองพร้อมขายอยู่จำนวนมาก ผู้ซื้อจึงมีโอกาส ที่จะเลือกซื้อได้บ้านดีและราคาถูกได้มาก เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของผู้ซื้อบ้าน ผู้เขียน จึงขอเสนอเปรียบเทียบข้อดีของบ้านมือสอง ในประเด็นที่สำคัญต่างๆ ดังนี้

1) ราคาบ้าน
     ในเรื่องราคาบ้านนั้น มีหลายกรณี ที่ผู้ซื้อบ้านมือสองมักจะมีโอกาสซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่าบ้านมือหนึ่งค่อน ข้างมาก ตัวอย่างเช่น

     ในกรณีที่บ้านมือสอง อยู่ในโครงการบ้านที่กำลังขายอยู่ หรือโครงการที่สร้างเสร็จไม่นานนัก บ้านมือสองก็จะอยู่ในสภาพที่ใหม่โดยยังไม่มีคนอยู่ หรือมีการอยู่อาศัยแล้วไม่นานนัก ราคาบ้านแบบเดียวกันก็มักจะมีการขายต่อที่ถูกกว่าบ้านที่ซื้อจากเจ้าของ โครงการโดยตรง ทั้งนี้ เพราะผู้ขายอาจมีความจำเป็นต้องขายในลักษณะ “ร้อนเงิน” ในลักษณะต่างๆ เช่น ต้องการเงินด่วนเพื่อใช้หนี้ เพื่อพยุงฐานะธุรกิจไม่ให้ล้มละลาย พ่อแม่ลูกหลานป่วยต้องการใช้เงินเป็นค่ารักษาพยาบาลด่วน หรือตนเองมีภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆมาก จนไม่สามารถผ่อนบ้านต่อได้ถึงขั้นที่ธนาคารต้องฟ้องร้องบังคับจำนอง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังปรากฎว่า มีบางครั้งที่เจ้าของบ้านต้องการขายบ้านนั้นเป็นการด่วนในราคาที่ถูกโดยที่ ตัวเองไม่มีปัญหาการเงิน แต่เพราะมีเหตุผลอื่นๆอีกมากมาย ตัวอย่างเช่น เห็นบ้านใหม่ในฝันที่ดีกว่าบ้านหลังที่ตนอยู่มากจึงต้องรีบขายเพราะอยากได้ บ้านใหม่ หรือ ทะเลาะกับเพื่อนบ้านอย่างรุนแรง ก็อยากหนีไปให้พ้นๆไปเสีย หรือต้องอพยพไปอยู่ต่างประเทศเป็นเวลานาน ดังนี้ เป็นต้น

     ในกรณีที่ขายในราคาใกล้เคียงกันกับบ้านมือหนึ่ง แต่บ้านมือสองอาจมีการปรับปรุงตกแต่งเพิ่มเติม และมีเฟอร์นิเจอร์หรือของแถมอื่นๆให้ผู้ซื้อด้วย

     ในกรณีเป็นบ้านเก่าที่มีการเข้าอยู่อาศัยหลายปีแล้ว (ไม่สามารถเปรียบเทียบกับบ้านมือหนึ่งได้โดยตรง) ผู้ซื้อก็มีโอกาสซื้อบ้านได้ราคาถูกมากเป็นพิเศษ บางกรณี บ้านอยู่ในทำเลที่ดีมาก ราคาที่ดินอย่างเดียวก็เกือบคุ้มแล้ว เนื่องจากผู้ขายร้อนเงิน หรือไม่ทราบราคาซื้อขายตลาดที่เป็นจริง

     ในกรณีที่มีการซื้อบ้านมือสองจากการขายทอดตลาด ทั้งโดยกรมบังคับคดีหรือสถาบันการเงิน ผู้ซื้อก็มีโอกาสประมูลซื้อได้ในราคาที่ถูกมากเป็นพิเศษ เช่นกัน เนื่องจากบ้านที่ตนต้องการ มีผู้เข้าสู้ราคาน้อย ในขณะที่การตั้งราคาเปิดประมูลเริ่มต้น ราคาต่ำกว่าราคาตลาดค่อนข้างมาก (เช่นกำหนดเพียง 50-80% ของราคาตลาดเท่านั้น)

2) ทำเลที่ตั้ง
     โดยทั่วไป บ้านมือสอง โดยเฉพาะบ้านเก่ามักจะมีทำเลที่ตั้งที่ดีกว่าบ้านในโครงการที่เปิดตัวใหม่ เมื่อเทียบประเภทบ้านและขนาดใกล้เคียงกัน โดยบ้านเปิดใหม่มักจะมีการก่อสร้างที่ไกลออกไปตามลำดับ โดยเฉพาะบ้านจัดสรรแบบบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ เนื่องจากมูลค่าที่ดินในเขตใกล้เมืองที่หายากและราคาแพงมากขึ้น ในขณะที่บ้านมือสองจำนวนมากได้สร้างมาก่อนหลายปีแล้ว จึงมักจะอยู่ย่านธุรกิจใกล้ศูนย์กลางเมืองมากกว่า ดังนั้น "ทำเลที่ตั้ง" ที่สะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และ "ที่อยู่ใกล้ที่ทำงาน" จึงเป็นจุดเด่นที่สุดของบ้านมือสองที่เหนือกว่าบ้านในโครงการเปิดตัวใหม่ ดังนั้นหากผู้ซื้อหมั่นตรวจสอบข้อมูลหรือสำรวจบริเวณชุมชนใกล้ที่ทำงานอยู่ เสมอ ก็อาจจะพบบ้านมือสองที่ดี ในทำเลที่เหมาะสมและอยู่ใกล้ที่ทำงานตามที่ต้องการได้

3) สภาพบ้าน
     ในขณะที่บ้านในโครงการเปิดตัวใหม่ ส่วนใหญ่แล้วจะมีการเปิดขายตั้งแต่ยังสร้างไม่เสร็จ ผู้ซื้อจึงไม่สามารถเห็นสภาพบ้านที่ตนเองจะซื้อโดยแท้จริงได้ว่ามีการก่อ สร้างดีมากน้อยเพียงใด นอกจากดูจากแบบแปลนหรือบ้านตัวอย่างเท่านั้น จึงเป็น “ความเสี่ยง” ประการหนึ่งของผู้ซื้อ เพราะบ้านที่สร้างเสร็จจริงอาจจะไม่ดี หรือสร้างไม่มีคุณภาพดังบ้านตัวอย่างที่เห็นก็ได้ ในส่วนบ้านมือสอง มีสภาพหลายลักษณะกว่าบ้านเปิดใหม่มาก โดยมีตั้งแต่บ้านใหม่เอี่ยมที่สร้างเสร็จแล้วแต่ไม่มีการอยู่อาศัย จนกระทั่งบ้านที่มีการอยู่อาศัยแล้วปีสองปีจนถึงนับสิบๆปี จนบ้านมีสภาพเก่าคร่ำคร่าหรือเสื่อมโทรมมากแล้ว จุดเด่นของ “บ้านใหม่มือสอง” คือผู้ซื้อได้เห็นสภาพอาคารแล้ว และสามารถพิจารณาเปรียบเทียบกับบ้านมือหนึ่งได้ เพราะมีสภาพคล้ายกันนั่นเอง แต่กรณีการซื้อ “บ้านมือสองสภาพเก่า” ผู้ซื้ออาจต้องเอาใจใส่และต้องพิจารณามากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะต้องดูว่าบ้านมี “สภาพเสื่อมโทรม” มากน้อยเพียงใด ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงซ่อมแซมมากน้อยเพียงใด ในกรณีนี้ผู้ซื้อควรอาศัย สถาปนิกหรือช่างก่อสร้างที่ชำนาญการ เพื่อช่วยประเมินค่าซ่อมแซมก่อนว่าหากต้องการปรับปรุงซ่อมแซมใหม่ตามที่ตน ต้องการ จะต้องใช้เงินเท่าใด บวกกับราคาขายแล้ว ยังคุ้มหรือไม่ ในบางกรณีแม้ว่าบ้านจะเก่ามากแล้ว แต่บ้านอยู่ในทำเลที่ตั้งที่ดีมาก ราคาที่ดินสูง ดังนั้น หากปรับปรุงซ่อมแซมแล้วจะได้บ้านคุณภาพที่ดี และผู้ซื้อสามารถต่อรองราคาที่เหมาะสมได้ ก็น่าซื้อในกรณีที่บ้านมีอายุต่ำกว่า 5 ปี และมีการอยู่อาศัย มักจะพบว่าสภาพบ้านจะค่อนข้างใหม่ และบางหลัง อาจมีสภาพที่สมบูรณ์ยิ่งกว่าบ้านเปิดตัวใหม่อีก เพราะเจ้าของมักจะมีการต่อเติมเสริมต่อ หรือมีการปรับปรุงตกแต่งแล้ว เช่น ปูพรม ปูปาเก้ ตกแต่งห้องน้ำด้วยสุขภัณฑ์อย่างดี มีแอร์ มีโทรศัพท์ หรือมีเฟอร์นิเจอร์พร้อม เป็นต้น ดังนั้น การซื้อบ้านมือสองเช่นนี้ ผู้ซื้อจึงอาจได้บ้านที่ตนพอใจชอบใจในราคาที่ถูกเป็นพิเศษก็ได้

     อนึ่ง มีบ้านมือสองบางประเภท ที่เจ้าของปล่อยร้าง หรืออยู่อาศัยเอง แต่ไม่สนใจปรับปรุงตกแต่งบ้าน ปล่อยให้บ้านมีสภาพที่ไม่น่าดู เช่น สีเก่า รั้วบ้านชำรุด มีหญ้าขึ้นรกสนาม แต่เนื่องจากอายุบ้านยังไม่มากนัก ความเก่าเป็นเพียงสภาพปรากฎภายนอก แต่สภาพโครงสร้างบ้านยังดี เมื่อผู้ซื้อตาถึง ซื้อมาในราคาที่ค่อนข้างถูกมาก แต่เมื่อปรับปรุงขัดสีฉวีวรรณใหม่ไม่มากนัก กลับปรากฎเป็นบ้านที่สวยงามประดุจบ้านใหม่ขึ้นมาได้

4) สภาพแวดล้อมของชุมชน
     บ้านในโครงการสร้างใหม่ มักจะมีสาธารณูปโภคสาธารณูปการที่ยังไม่พร้อมสมบูรณ์ บางครั้งมีการก่อสร้างต่อในเฟสสอง เฟสสาม ทำให้สภาพแวดล้อมในชุมชนไม่ดีนัก สภาพทั่วไปของโครงการใหม่ค่อนข้างจะแห้งแล้ง และร้อนระอุในหน้าร้อน เนื่องจากต้นหมากรากไม้ที่ปลูกสองข้างทาง หรือในบริเวณบ้านของแต่ละคน ยังไม่โตเพียงพอ ตรงข้ามกับบ้านเก่าในชุมชนจัดสรรที่สร้างเสร็จเรียบร้อยมานานพอสมควรแล้ว เช่น 3-4 ปี แล้ว ชุมชนค่อนข้างจะมีสภาพแวดล้อมที่เขียวด้วยต้นไม้ใบไม้ต่างๆมากกว่าบ้านใน โครงการใหม่ และผู้ซื้อสามารถมองเห็นระบบสาธารณูปโภคต่างๆในชุมชนได้เป็นอย่างดีว่ามี สภาพกว้างใหญ่และ ดีเลวประการใด อย่างไรก็ตามมีบ้านมือสองจำนวนมาก ที่อยู่นอกชุมชนบ้านจัดสรร เป็นบ้านที่เจ้าของสร้างเองโดยไม่มีการขออนุญาตจัดสร หรือเป็นชุมชนเก่าที่เกิดขึ้นมานานแล้วอย่างค่อยเป็นค่อยไป บางครั้งถนนหนทางค่อนข้างจะเล็กแคบ ไม่ได้มาตรฐาน จนรถเข้าออกได้ไม่สะดวกนัก บ้านแต่ละหลังสร้างกันเอง ผสมผสานกันระหว่างตึกแถวบ้าง บ้านเดี่ยวบ้าง ดูระเกะระกะไม่เป็นชุมชนที่ดีในเชิงสภาพแวดล้อมนัก บ้านบางหลังก็อยู่ในพื้นที่ลุ่ม ถนนซอยอยู่ต่ำกว่าระดับถนนหลัก (เพราะถนนหลักอาจจะเพิ่งสร้างยกระดับในภายหลัง) น้ำท่วมขังได้ง่าย แต่หากไม่ดูในหน้าฝน ผู้ซื้อก็อาจละเลยลืมคิดถึงประเด็นนี้ไปได้

     อนึ่ง สภาพแวดล้อมนี้ มิได้หมายถึงเฉพาะสิ่งแวดล้อมทางกายภาพเท่านั้น หากรวมถึง “สภาพแวดล้อมทางสังคม” ด้วย ซึ่งได้แก่ เพื่อนบ้านเรือนเคียงและผู้อยู่อาศัยในชุมชนว่าเขาเป็นใคร เป็นคนกลุ่มไหน สำหรับการซื้อบ้านใหม่ในโครงการจัดสรร ผู้ซื้อมักจะไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ซื้อบ้านที่ติดกับตน แต่บ้านมือสอง ผู้ซื้อสามารถสอบถามทำความรู้จักกับผู้อยู่อาศัยใกล้เคียงได้ เพื่อหยั่งรู้ถึงอาชีพการงาน รสนิยม และอัธยาศรัยไมตรี ว่าเป็นประการใด สามารถจะพึ่งพาอาศัยเกื้อฉันล กันได้หรือไม่ หรือเมื่ออยู่ใกล้กันแล้วจะมีโอกาสเกิดปัญหากระทบกระทั่งกันได้หรือไม่ ในบางครั้งผู้ซื้อพบว่ามีผู้ขายบ้านมือสอง ที่อยู่ใกล้กับญาติพี่น้อง หรือเพื่อนสนิทมิตรสหายที่อยู่อาศัยมาก่อน ก็จะเป็นเงื่อนไขบวกประการหนึ่งในการตัดสินใจซื้อบ้าน

5) ความต้องการอยากได้บ้านที่อยู่ได้ทันทีหรือไม่
     โดยทั่วไป หากมีการซื้อบ้านที่เปิดตัวใหม่ ผู้ซื้ออาจต้องเสียเวลาในการรอคอยนานเป็นปี หรือบางโครงการอาจจะถึง 1-2 ปี ทำให้บางคนขาดความอดทนที่จะรอคอยนานเช่นนั้น จึงเห็นว่าการซื้อบ้านที่สร้างเสร็จแล้ว หรือบ้านมือสองที่มีทุกอย่างพร้อมเข้าอยู่ได้เลย น่าจะดีกว่า ไม่ต้องไปเสียเวลารอคอยหรือตกแต่งอะไรอีก จึงสะดวกสบายสำหรับผู้ที่มีธุรกิจการงานรัดตัวจนไม่มีเวลาพอที่จะมายุ่งใน เรื่องบ้าน เมื่อมีเงินพอที่จะจ่ายดาวน์ประมาณ ร้อยละ 20 ของราคาบ้าน ที่เหลือฉัน้เงินจากธนาคารได้ ใช้เวลานานไม่ถึงเดือนก็ได้เข้าอยู่ในบ้านของตนเองแล้ว

สิ่งที่ควรตรวจสอบก่อนซื้อบ้าน

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

ช่วงนี้ใครกำลังมองหาที่จะซื้อบ้านหลังใหม่ วันนี้มีสิ่งที่ควรตรวจสอบก่อนซื้อบ้านมาบอก...


- วงเงินการปล่อยกู้จากสถาบันการเงิน

เพื่อ จะได้ทราบระดับราคาบ้านที่จะสามารถซื้อได้โดยผู้ซื้อสามารถตรวจสอบได้ที่ ฝ่ายให้บริการสินเชื่อของสถาบันการเงินต่าง ๆ หรือตามเว็บไซต์ที่ให้บริการข้อมูลด้านที่อยู่อาศัย หรือตามเว็บไซต์ที่ให้บริการข้อมูลด้านที่อยู่อาศัย หรือตามเว็บไซต์ของสถาบันการเงิน ซึ่งโดยปกติสถาบันการเงินจะปล่อยกู้ประมาณ 25-30 เท่าของอัตราเงินเดือนผู้กู้ ในกรณีที่ผู้ซื้อมีผู้กู้ร่วมด้วยอัตราส่วนเพิ่มของวงเงินกู้ ก็จะเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเดือนของผู้กู้ สถาบันการเงินอาจจะพิจารณาปล่อยกู้เกินกว่าวงเงินขั้นต่ำที่กำหนด โดยพิจารณาจากปัจจัยอื่น ๆ ประกอบ เช่น อาชีพ ความมั่นคง ความก้าวหน้า ความสามารถในการผ่อนชำระ อาชีพเสริมที่รู้แหล่งที่มาของรายได้ เป็นต้น

- ข้อมูลโครงการ

โดย แบ่งแยกตามทำเล ระดับราคา และประเภทที่อยู่อาศัยที่สนใจ จากสื่อสิ่งพิมพ์หรือเว็บไซต์ที่ให้บริการข้อมูลด้านที่อยู่อาศัย เพื่อประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปดูโครงการจริง

- ข้อมูลทางราชการ

เช่น แนวเวนคืน โครงข่ายสาธารณูปโภค-สาธารณูปการที่มีอยู่ และจะเกิดขึ้นในอนาคตข้อมูลบางอย่างจะมีประโยชน์ต่อการอยู่อาศัย เช่น การก่อสร้างทางด่วน การตัดถนน เป็นต้น

- ผังเมืองรวม

ควร หลีกเลี่ยงโครงการที่อยู่ในเขตผังเมืองประเภทพื้นที่อุตสาหกรรม หรือพาณิชยกรรม หรือที่พักอาศัยหนาแน่นมาก เพราะพื้นที่เหล่านี้จะเป็นเขตที่มีผู้คนอยู่หนาแน่น และมีกิจกรรมต่างๆ มากมายที่ทำให้เกิดมลภาวะ ปัญหาการจราจร ฯลฯ

- สิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น

เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน ฯลฯ เพราะหากมีความจำเป็นต้องใช้บริการ จึงควรตรวจสอบระยะเวลา และความสะดวกในการเดินทาง

- เส้นทางการเดินทาง และโครงข่ายการจราจร

เช่น ข้อมูลการเดินรถสาธารณะ เส้นทางรถโดยสารสาธารณะจำนวนสายเดินรถ ช่วงเวลาการให้บริการ โดยเฉพาะรถโดยสารประจำทางที่จำเป็นต้องใช้ประจำระหว่างบ้านกับที่ทำงาน และโรงเรียนหรือข้อมูลทางด่วน ถนนซอยต่าง ๆ ปริมาณการจราจร จุดที่มีปัญหา และเส้นทางลัด


ใครจะซื้อบ้านใหม่ ก็อย่าลืมนำข้อแนะนำที่บอกไปตรวจสอบกันก่อนจะตัดสินใจซื้อบ้านใหม่กันได้.

ข้อแนะนำในการเลือกซื้อ บ้านมือสอง




ข้อแนะนำในการเลือกซื้อ บ้านมือสอง





การเลือกซื้อ บ้านมือสอง ที่ดีนั้น เน้นคุณสมบัติ  3  ประการ  คือ  ราคาถูก เพื่อนบ้านดี  ทำเลเด่น1.ดูทำเล บ้านมือสอง  เน้นพื้นที่ในย่านที่กำลังมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นหรือฟื้นฟูจากสภาพไม่น่าอยู่
     
2.สำรวจสภาพแวดล้อมและเพื่อนบ้านโดยเข้าไปพูดคุยสำรวจสอบถามเก็บ ข้อมูลให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในสภาพแวดล้อมควรเน้นเลือกแหล่งที่ยัง คงเจริญต่อไป  และมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่อชีวิตประจำวัน  เช่น  ใกล้โรงเรียน  ศูนย์การค้า  ตลาด  และโรงพยาบาล  ทั้งนี้ควรอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าน้ำจะต้องไม่ท่วมและไม่มีมลภาวะทางกลิ่น  แสง  และเสียง

3.สภาพ บ้านมือสอง  เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ  เพราะมูลค่า บ้านมือสอง นอกจากจะขึ้นอยู่กับความต้องการและปริมาณสินค้าในตลาดแล้วยังขึ้นอยู่กับลักษณะตัว บ้านมือสอง เองด้วย  ให้ท่านสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินด้วยตัวเอง  เช่น  ตรวจดูขนาดทรัพย์สินว่าเหมาะสมกับการใช้ประโยชน์หรือเปล่า  สภาพทรัพย์สิน  การปรับปรุงทรัพย์สิน  และการจัดการทรัพย์สิน

4.ซื้อ บ้านมือสอง ที่ราคาค่าเช่าต่ำกว่าราคาเช่าในท้องตลาด  เพราะเราสามารถเพิ่มค่าเช่าได้

5.เลือกซื้อ บ้านมือสอง ที่มีเงื่อนไขเงินกู้สนับสนุน  เช่น  อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด  หรืออัตราดอกเบี้ย  0%  เพราะผลประโยชน์เหล่านี้คือส่วนลดจากราคาซื้อ บ้านมือสอง นั่นเอง

6.สอบถามเรื่องบริการชุมชนจากเพื่อนว่างานสารธาณูปโภคตลอดจนค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นอย่างไร  การดูแลรักษาสภาพโครงการสม่ำเสมอ  และเหมาะสมหรือไม่

7.ตรวจข้อมูลเกี่ยวกับการจำนอง บ้านมือสอง  เดิมกับสถาบันการเงินให้ชัดเจนรวมถึงภารผูกพันและสัญญาเช่าเดิมที่มีอยู่กับผู้อาศัยในปัจจุบันเพระผู้ซื้ออาจมีปัญหาการส่งค่างวด  หรือค่าบริหารทรัพย์สินส่วนกลางต้องคุยรายละเอียดในเงื่อนไขเหล่านี้ให้ชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

8.ต้องคุยเรื่องค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนโอน บ้านมือสอง ที่จะซื้อ  และภาษีให้ชัดเจนว่าใครเป็นผู้รับภาระ

9.เปรียบเทียบกับราคาประเมินบ้านที่มีอยู่แล้ว  เช่น  ราคาซื้อขาย บ้านมือสอง ที่คล้ายคลึงในบริเวณที่ใกล้เคียง  ราคาประเมินของกรมที่ดิน  ของธนาคาร  และบริษัทประเมิน

10.ต่อรองราคาให้ราคาต่ำมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  การต่อรองราคาถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ต้องใช้เสมอ  ก่อนที่จะทำสัญญาซื้อขายขั้นสุดท้าย  ให้ระลึกไว้เสมอว่าเงินทุกบาทที่ท่านต่อรองซื้อได้ต่ำกว่าราคาเสนอขาย  นั่นหมายถึงกำไรที่จะตกมาถึงท่านในที่สุดนั่นเอง

11.ตรวจสอบและขอหลักฐานเก่าๆ  ที่เป็นส่วนประกอบของสัญญาเดิมเอาไว้  เพราะเอกสารเหล่านี้มีผลในการบังคับให้เจ้าของโครงการต้องปฏิบัติตามที่ตกลงหรือสัญญาที่เคยระบุไว้

12.การใช้บริการของบริษัทนายหน้าอสังหาริมทรัพย์  จัดเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเลือกซื้อ บ้านมือสอง อย่างชาญฉลาดทางหนึ่ง  เพราะเป็นช่องทางที่ทำให้มี บ้านมือสอง มาให้เลือกมากขึ้น  และยังมีโอกาสให้มีคำแนะนำและการช่วยเหลือในด้านต่างฯ  ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อ บ้านมือสอง ด้วย  เช่น  การพาไปดูบ้าน  การติดต่อสถาบันการเงิน  การหาราคาประเมิน  ซึ่งบริการเหล่านี้มักไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย  หรือหากเสียก็น้อยมาก

ขอขอบคุณ
อนุชา กุลวิสุทธิ์ : ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ แบบมืออาชีพ

Monday, May 7, 2012

ทำไมคุณควรซื้อบ้าน?

ถ้าวันนี้คุณกำลังคิดที่อยาก จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินอะไรสักชิ้นละก็... ขอแนะนำให้คุณนึกถึงการซื้อบ้าน ไว้เป็นอันดับต้นๆเลย และถ้าในใจของคุณมีบ้านไว้เป็นตัวเลือกอยู่แล้ว ก็ขอสนับสนุนแนวคิดนี้ให้ ประสบความสำเร็จด้วยนะคะ เพราะว่าบ้านนอกจากใช้เป็นที่อยู่อาศัยแล้ว บ้านยังจัดเป็นทรัพย์สินที่มีแต่ราคาจะเพิ่มขึ้น นับว่าการซื้อบ้านเป็นการ ลงทุนที่คุ้มค่ามาก เรามาดูกันสิว่า...ทำไมเราไม่ควรชักช้าที่จะซื้อบ้าน เป็นของตัวเอง
 
บ้านคือการลงทุนที่ดีที่สุด ::: ถ้า คุณมีบ้าน คอนโด หรือ ทาวน์โฮม ที่นอกเหนือจากการใช้อยู่อาศัยเอง มากกว่า 1 หลังแล้ว คุณสามารถนำสินทรัพย์เหล่านี้มาปล่อยเช่าเพื่อเป็นรายได้อีกทาง ยิ่งถ้าคุณ มีสินทรัพย์อยู่ในทำเลดีๆ ใจกลางเมือง รายได้ที่เกิดจากค่าเช่าที่คุณจะได้รับนั้นก็จะมีมูลค่าสูงขึ้นเป็นเงาตาม ตัว คำนวณดูดีๆ รายได้จากสินทรัพย์เหล่านี้ให้มูลค่ามากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากเสียอีกค่ะ
บ้านถือเป็นการออมเงินอีกทางหนึ่ง :::  เมื่อ เริ่มคิดจะซื้อบ้านสักหลังนั้น คุณอาจจะกังวลใจว่าการผ่อนบ้านเป็นภาระหนักสำหรับคุณ แต่ถ้าลองคิดในมุมกลับ กัน เงินที่คุณนำไปผ่อนบ้านทุกๆเดือนนั้น เสมือนเป็นการลงทุนสำหรับอนาคตของคุณเอง เพราะการผ่อนบ้านก็เหมือนกับเป็นการบังคับให้ออมเงินในทุกๆเดือน ซึ่งเมื่อ ในตอนท้ายสุดแล้วรางวัลที่คุณจะได้จากการออมเงินครั้งนี้ก็คือบ้านหลังแรกใน ชีวิตของคุณเอง

ซื้อบ้านย่อมคุ้มกว่าการเช่า :::  สำหรับ คนที่กำลังเช่าบ้าน คุณอย่ากลัวกับการที่คิดจะมีบ้านเป็นของคุณเอง เพราะตราบใดที่คุณยังจ่ายค่าเช่าบ้านอยู่ คุณก็คงจะไม่มีทางร่ำรวยขึ้น เพราะเงินค่าเช่าที่คุณต้องเสียไปทุกๆเดือนนั้น นอกจากคุณไม่ได้เป็นเจ้าของบ้านแล้ว คุณยังเสียประโยชน์และโอกาสที่จะได้รับจากการมีบ้านเป็นของตัวเองด้วย   ค่าผ่อนบ้านอาจจะสูงกว่าค่าเช่าไม่มาก แต่ก็คุ้มค่ากับการจ่ายเงินแล้วได้เป็นเจ้าของบ้านนะคะ

ซื้อบ้านแล้วยังช่วยลดภาษี ::: ข้อ ดีอีกข้อของการซื้อบ้านก็คือการนำดอกเบี้ยที่คุณใช้ผ่อนบ้านมาหักภาษีได้ปี หนึ่ง 100,000 บาท แล้วมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆจะยอมเสียโอกาสนี้ไปได้ง่ายๆหรือค่ะ

ซื้อบ้านแล้วได้ความภูมิใจ ::: การ มีบ้านไม่ใช่เพียงแต่จะให้ประโยชน์ที่จับต้องได้เท่านั้น แต่การมีบ้านยัง สะท้อนถึงความภาคภูมิใจของตัวผู้ซื้ออีกด้วย ซึ่งถ้าใครสามารถซื้อบ้านได้ ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองแล้วนั้น ความภูมิใจและความรักที่มีต่อบ้านก็ยิ่งจะเพิ่มพูนขึ้นไปอีก 
 
....เห็นข้อดีของการมีบ้านเป็นของตัวเองอย่างนี้แล้ว ก็อย่ารีรอที่จะตัดสินใจซื้อบ้านกันนะคะ


[ อย่าลืมส่งบทความดีๆบทนี้ ไปแนะนำเพื่อนนะคะ ]