Pages

Sunday, October 7, 2012

ทำไมต้องมีผู้ควบคุมงานก่อสร้าง?

ทำไมต้องมีผู้ควบคุมงานก่อสร้าง?

ทำไมต้องมีผู้ควบคุมงานก่อสร้าง?


คำ ว่า “ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง” เป็นคำที่มีภาระผูกพันทางกฎหมาย ไม่ใช่หมายถึงเพียงผู้ควบคุมงานที่อยู่ในหน่วยงานก่อสร้างทั่วไป ผู้ควบคุมงานในหน่วยงานก่อสร้างอาจเป็นเพียงหัวหน้าคนงาน หัวหน้าช่าง โฟร์แมนหน้างาน รวมถึงวิศวกรและสถาปนิกที่รับผิดชอบดูแลงานนั้นอยู่

แต่ ในทางกฎหมายแล้วผู้ควบคุมงานคือผู้ที่ต้องเซ็นชื่อในเอกสารของทางราชการ เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในงานก่อสร้างที่ได้ขออนุญาต โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วทุกงานก่อสร้างต้องมีวิศวกรเซ็นคุมงาน เนื่องจากการทำงานก่อสร้างเกี่ยวพันถึงความแข็งแรงปลอดภัยของโครงสร้างว่า ได้ทำการก่อสร้างถูกแบบที่ออกแบบไว้หรือไม่  เพราะถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ หากมีการก่อสร้างที่ผิดไปจากการออกแบบและขออนุญาต และก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น เป็นอันตรายจากการพังถล่ม ไม่ว่าจะเกิดขณะก่อสร้างหรือเกิดภายหลังจากการใช้สิ่งก่อสร้างนั้น จนมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต จึงจำเป็นต้องมีผู้รับผิดชอบทางกฎหมาย  
กฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมการก่อสร้างเรียกว่า “กฎหมายควบคุมอาคาร” ซึ่งมีรายละเอียดมาก โดยมีมาตราต่างๆ ที่บัญญัติไว้ ตัวอย่างเช่น การกำหนดความสูงของอาคารขนาดต่างๆ การกำหนดระยะร่นจากเขตที่ดินที่จะก่อสร้าง การกำหนดขนาดความกว้างของบันได หรือของทางเดินภายในอาคาร เช่น หอพัก หรืออพาร์ตเมนต์ ว่าต้องกว้างอย่างต่ำเท่าใด   กำหนดให้ต้องมีบันไดหนีไฟที่ระยะห่างจากบันไดหลักเท่าไร การกำหนดเรื่องช่องเปิด ได้แก่ หน้าต่าง ว่าจะเปิดได้ที่ใดบ้าง ไม่ใช่ต้องการมีหน้าต่างที่ใดก็เปิดช่องหน้าต่างขึ้นมา กำหนดขนาดพื้นที่ของห้องต่างๆ ว่าต้องมีขนาดเท่าใดเป็นอย่างต่ำ กำหนดเรื่องการระบายน้ำเพื่อเชื่อมกับระบบของสาธารณะว่าต้องทำอย่างไรบ้าง กำหนดเรื่องลำรางสาธารณะที่อยู่ในเขตที่ดิน เป็นต้น  
หากมีการออกแบบและได้รับใบอนุญาตก่อสร้างแล้วทำการก่อสร้างผิดจากที่ได้ ขออนุญาตไว้ ผู้เซ็นควบคุมงานจะมีความผิดและถูกลงโทษทางกฎหมาย การก่อสร้างที่ไม่ได้มีการป้องกันการรบกวนพื้นที่ข้างเคียง เช่น ไม่ได้ทำการปิดกันวัสดุตกหล่นหรือก้นฝุ่นที่เกิดจากการก่อสร้าง วิศวกรที่เซ็นคุมงานก็จะมีความผิดตามกฎหมายและถูกปรับ และค่าปรับก็ค่อนข้างจะสูง  
ดังนั้นมีคำกล่าวกันว่าวิศวกรผู้ที่เซ็นคุมงานก่อสร้างนั้นเปรียบเหมือน ดังว่า “ขาข้างหนึ่งได้อยู่ในคุกแล้ว” จึงไม่ใช่เรื่องที่จะปล่อยปละละเลยไม่ดูแล เพราะหากเกิดเหตุร้ายแรงขึ้นอาจถูกถอนใบอนุญาตการประกอบอาชีพวิศวกรได้ รวมถึงการติดคุก  
ในปัจจุบันกฎหมายกำหนดว่าการขออนุญาตก่อสร้างที่ต้องส่งแบบและรายการ คำนวณเพื่อยื่นขออนุญาต ต้องมีวิศวกรโครงสร้างเซ็นชื่อยินยอมเป็นผู้ควบคุมงานไว้ด้วย ถึงจะยื่นขออนุญาตได้ และสำหรับอาคารที่มีพื้นที่เกิน 150 ตารางเมตรจะต้องมีสถาปนิกเป็นผู้ออกแบบและควบคุมงาน ถึงจะทำการก่อสร้างได้  แต่สถาปนิกผู้ควบคุมงานสามารถยื่นเรื่องการควบคุม งานภายหลังจากใบอนุญาตก่อสร้างออกแล้วได้ก่อนการก่อสร้างจริง แต่วิศวกรต้องมีตั้งแต่การขออนุญาต ทั้งวิศวกรและสถาปนิกอาจยื่นเรื่องขอยกเลิกและถอนการเป็นผู้ควบคุมงานได้ ถ้าไม่ต้องการคุมงานนั้นอีกต่อไป อาจมีสาเหตุมาจากการตกลงเฉพาะเพื่อการยื่นขออนุญาตเท่านั้น เมื่อจะสร้างจริงเจ้าของจะต้องหาวิศวกรมาเพื่อเซ็นคุมงาน ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถทำการก่อสร้างได้

0 comments:

Post a Comment