Pages

Sunday, May 6, 2012

ขั้นตอนการซื้อบ้านที่ควรรู้

ขั้นตอนซื้อบ้าน 
         หลายวันก่อนได้รับโทรศัพท์จากลูกค้าท่านนึงที่ต้องการนัดเพื่อเข้าไปตรวจ บ้าน หลังจากคุยสอบถามกันได้สักพักมีสิ่งนึงที่ผมไม่สบายใจเลยอยากจะมาเล่าให้ฟัง กันในเรื่องขั้นตอนการซื้อบ้านที่ควรทราบนะครับ

          เรื่องของเรื่องคือลูกค้าท่านนี้ได้จองบ้านกับโครงการๆ นึงไว้ พอทางแบงค์แจ้งทางโครงการว่าลูกค้าท่านนี้ผ่านการอนุมัตแล้ว เซลของโครงการก็แจ้งลูกค้าถึงวันนัดหมายการโอนบ้านไว้เรียบร้อย และบอกทางลูกค้าท่านนี้อีกว่าหลังจากโอนแล้วจะมอบกุญแจบ้านและให้ตรวจความ เรียบร้อย และจะแก้ไขให้ภายใน 15 วัน เมื่อผมได้ฟังแล้วก็ไม่สบายใจว่าลูกค้าท่านนี้จะได้รับการดูแลจากทางโครงการ เรื่องการแก้ไขจุดบกพร่อง “หลังการโอน” ให้เรียบร้อยได้จริงตามที่โครงการได้บอก “ก่อนโอน” หรือไม่ เพราะเท่าที่ทราบพฤติกรรมของโครงการส่วนใหญ่คือ จะดูแลลูกค้าเป็นอย่างดีเมื่อลูกค้ายังไม่ได้โอน แต่หากโอนแล้วนั้นส่วนใหญ่หน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว ลองคิดง่ายๆ นะครับพอเราโอนแล้วเรานัดโครงการเข้ามาแก้ไข ลองคิดดูว่าโครงการจะลำดับความสำคัญของเราไว้ตรงไหน แน่นอนครับเค้าต้องสนใจคนที่ยังไม่ได้โอนมากกว่า อันนี้ผมไม่ได้ดิสเครดิตโครงการนะครับพูดกันตามจริง โครงการที่รับผิดชอบก็มีแต่เราจะต้องมาลองเสี่ยงดูก่อนหรือ เพราะเราก็ไม่ได้ทราบมาก่อนว่าโครงการไหนดูแลแค่ไหน ก็จริงที่โครงการชื่อดังบริการย่อมดีกว่าแต่ขนาดโครงการชื่อเดียวกันแต่คนละ ทำเลการบริการก็ไม่เหมือนกันนะครับ อันนี้จากที่ผมได้คุยกับลูกค้าหลายๆ คนมา

          งั้นวันนี้ผมจะมาบอกถึงขั้นตอนในการซื้อบ้านจนกระทั่งโอนบ้านพอให้ทราบกันคร่าวๆ นะครับ

          หลังจากเราได้เลือกบ้านที่ต้องการจากราคา ทำเล บริษัทผู้รับสร้างบ้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการจองซื้อ ซึ่งค่าจองก็หลากหลายกันไปในแต่ละโครงการ เดี๋ยวนี้เห็นมีโปรโมชั่นจองเพียง 999 ของคอนโดชื่อดังโครงการหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อดีของผู้ซื้อคือหากไม่พอใจอยากจะเปลี่ยนใจภายหลังหรือกู้ไม่ผ่าน เงินจองตัวนี้ที่ต้องเสียไปก็เป็นเงินจำนวนที่พอจะรับได้ แต่หากบางโครงการเงินจองมาก นอกจากนี้ยังต้องมีเงินค่าทำสัญญาอีกหลายหมื่น อันนี้หากเราไม่พอใจและคิดจะเปลี่ยนใจภายหลังนี่ต้องคิดหนักเพราะเค้าไม่คืน เงินจำนวนนี้ให้นะครับ (จะมีบางโครงการที่คืนเงินให้หากกู้ไม่ผ่าน) อ่อ เรื่องเงินทำสัญญาโครงการส่วนใหญ่จะนัดทำสัญญาหลังจากจองประมาณ 7 วันครับ

          หลังจากการจองแล้วขั้นตอนต่อมาคือยื่นกู้ เตรียมหลักฐานเอกสารให้เรียบร้อยยื่นกู้ไปเลยครับหลายๆ แบงค์ (รายละเอียดส่วนนี้ไว้วันหลังผมจะมาเล่าให้ฟัง) ในระหว่างที่ยื่นกู้นั้นทางโครงการจะนัดหมายเพื่อให้เราไปตรวจสอบความเรียบ ร้อยของบ้าน ซึ่งระยะเวลาในการตรวจสอบเรื่องกู้ของแบงค์กับการตรวจสอบความเรียบร้อยและ การแก้ไขจุดบกพร่องจะพอดีๆ กัน หรือถ้าจุดที่ต้องแก้ไขมีเยอะแก้ไขให้ไม่ทันในการนัดโอนครั้งแรก เราสามารถแจ้งทางแบงค์ได้ครับ หลังจากวันที่แบงค์อนุมัติแล้วเรายังมีเวลาเหลืออีกประมาณ 60 วันระยะเวลาในการอนุมัติกู้ถึงจะหมดลง หากมากกว่านี้ต้องทำเรื่องยื่นกู้ใหม่ เรื่องระยะเวลาอาจแตกต่างกันในแต่ละแบงค์นะครับลองเช็คดูด้วย ส่วนเรื่องการแก้ไขส่วนใหญ่จะไม่นานครับเพราะทางโครงการต้องรีบทำให้เราอยู่ แล้วเนื่องจากเค้าก็ยังต้องการให้โอน ซึ่งฝ่ายช่างมักจะโดนทางเซลบีบอยู่แล้วครับ แต่งานแก้ไขไปแล้วนั้นเราต้องตรวจสอบให้ดีว่าโครงการแก้ไขให้เราให้หมดทุก จุดหรือเปล่าด้วยนะครับอย่าลืมเป็นอันขาด

          ข้อสำคัญ “อย่าโอนหากบ้านยังไม่เรียบร้อย” คำ สัญญาปากเปล่านั้นใช้ไม่ได้เมื่อเราโอนไปแล้วนะครับ เพราะเมื่อบ้านไม่เรียบร้อยเราจะตามตัวคนพูดมารับผิดชอบไม่ได้เลย หรือในกรณีที่ที่เราต้องการโอนก่อนเนื่องด้วยปัจจัยอะไรก็แล้วแต่ให้ทำเป็น ลายลักษณ์อักษรนะครับจะได้ไม่มีปัญหาภายหลัง

          ลองนึกภาพง่ายๆ นะครับ หลังจากที่เราย้ายของเข้าไปแล้วป้ญหาต่างๆ ย่อมมีตามมา เมื่อเราต้องไปทำงานไม่มีใครอยู่บ้าน ต้องลางานมานั่งเฝ้าช่างแก้งาน กลัวของหาย ไหนบ้านจะเลอะอีก สารพัดปัญหาครับ

          คุยมาซะยาวก็พอจะเข้าใจกันแล้วนะครับว่าขั้นตอนการซื้อบ้านจนกระทั่งโอนมี อะไรบ้าง ทีนี้ถ้าเราเจอใครๆ บอกให้เรารีบโอนก็ช่างใจดีๆ แล้วกันนะครับ ส่วนลูกค้าท่านนั้นเมื่อได้ทราบเรื่องจากทางผมเรียบร้อยแล้วจึงได้โทรไป เลื่อนนัดธนาคารและนัดตรวจบ้านกับเซล เซลรับปากเป็นอย่างดีว่าตรวจได้เลย ลูกค้าผมได้ย้ำแล้วย้ำอีกว่าเตรียมน้ำเตรียมไฟให้ตรวจด้วยนะ ทางเซลก็รับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะ พอถึงวันจริงที่นัดตรวจ บ้านที่อยู่ในซอยเดียวกันฝั่งตรงข้ามกำลังสร้างกันอยู่เลย โครงการมาบอกว่านัดตรวจได้ยังไง QC ยังไม่ได้ตรวจเลย น้ำ-ไฟ ก็ไม่มีให้ บ้านอยู่ในสภาพฝุ่นทั้งหลัง สรุปว่าเลยตรวจไม่ได้ สอบถามไปทางเซล เซลก็ทำหน้ามึนไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น ถือว่ากรณีนี้เป็นกรณีตัวอย่างแล้วกันนะครับ

0 comments:

Post a Comment